วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)

ดัดแปลงโดย นศพ.ฉัตรชัย มีแดนไผ่ 
จากบทความของ รศ.นพ.มาโนช หล่อตระกูล และ ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์

             โรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder) เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ทำให้เกิดความผิดปกติของอารมณ์ โรคนี้มีหลายชื่อเช่น โรคอารมณ์แปรปรวน , manic-depressive disorder, bipolar affective disorder, bipolar disorder  ผู้ที่เป็นจะมีอารมณ์และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจน 2 แบบดังนี้
-  แบบแรกมีลักษณะอารมณ์และพฤติกรรมออกเป็นแบบ  "ซึมเศร้า (depression)"
-  แบบที่สองมีลักษณะคึกคักพลุ่งพล่าน  ซึ่งเรียกว่า "เมเนีย (mania)"


               จากภาพจะเห็นว่าผู้ที่เป็นจะอารมณ์เปลี่ยนแปลงไปจากปกติเป็นช่วงๆ โดยเป็นแบบซึมเศร้าตามด้วยช่วงเวลาที่เป็นปกติดี จากนั้นอีกเป็นปีอาจเกิดอาการแบบเมเนียขึ้นมา บางคนอาจเริ่มต้นด้วยอาการแบบเมเนียก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องตามด้วยอาการด้านตรงข้ามเสมอไป เช่น อาจมีอาการแบบ ซึมเศร้า - ปกติ ซึมเศร้า - เมเนีย

อาการ
            ผู้ที่เป็นจะมีอาการแสดงออกมาทั้งในด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม โดยในแต่ละระยะจะมีอาการนานหลายสัปดาห์ จนอาจถึงหลายเดือนหากไม่ได้รับการรักษา

ระยะซึมเศร้า (depression) 
          1. มีอาการซึมเศร้า  หรือเบื่อหน่าย ความสนใจหรือความเพลินใจในสิ่งต่างๆ ลดลงอย่างมาก
          2. รู้สึกตนเองไร้ค่า เป็นภาระ หรือรู้สึกผิด   
        3. นอนไม่หลับ หรือนอนมากกว่าปกติ
        4. เชื่องช้า หรือกระวนกระวาย
        5. อ่อนเพลีย ไม่มีเรี่ยวแรง
        6. สมาธิลดลง ลังเลใจ
        7. คิดอยากตาย
        8. เบื่ออาหาร ผอมลง

        ## อาการระยะซึมเศร้า   จะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มักเป็นหลังมีเรื่องกระทบกระเทือนใจ เช่น สอบตก  เปลี่ยนงาน มีปัญหาครอบครัว แต่จะต่างจากปกติคือเขาจะเศร้าไม่เลิก งานการทำไม่ได้ ขาด   งานบ่อยๆ มักเป็นนานเป็นเดือนๆ
          
           ## ข้อสังเกตใน "ระยะซึมเศร้า  คนที่อยู่ในระยะซึมเศร้าจะพอบอกได้ว่าตนเองเปลี่ยนไปจากเดิมในระยะซึมเศร้าหากคนใกล้ชิดสนใจมักสังเกตไม่ยากเพราะเขาจะซึมลงดูอมทุกข์  
            
ระยะเมเนีย (mania)
             1. มีอารมณ์ครึกครื้น แสดงออกอย่างเต็มที่ หรืออารมณ์หงุดหงิดมากเกินปกติ
          2. รู้สึกว่าตนเองเก่ง หรือมีความสำคัญมาก
        3. ต้องการนอนลดลง
        4. ความคิดพรั่งพรู แล่นเร็ว
        5. มีพลัง มีกิจกรรม โครงการต่างๆ มากมาย
        6. วอกแวก สนใจไปทุกสิ่งทุกอย่าง
        7. หุนหันพลันแล่น ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย
        8. พูดมาก หรือพูดไม่หยุด
        9. ไม่ตระหนักว่าตนเองผิดปกติไปจากเดิม

             ##  อาการระยะเมเนีย    มักเกิดขึ้นเร็ว และเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนภายใน 2-3 สัปดาห์อาการจะเต็ม  ที่อารมณ์รุนแรง  ก้าวร้าวจนญาติจะรับไม่ไหวต้องพามาโรงพยาบาล อาการในครั้งแรกๆ จะเกิดหลังมีเรื่องกดดัน แต่หากเป็นหลายๆ ครั้งก็มักเป็นขึ้นมาเองโดยที่ไม่มีปัญหาอะไรมากระตุ้นเลย

           ## ข้อสังเกตใน "ระยะเมเนีย"    คนที่อยู่ในระยะเมเนียจะไม่คิดว่าตัวเองผิดปกติ มองว่าช่วงนี้ตัวเองอารมณ์ดีหรือใครๆ ก็ขยันกันได้   อาการแบบเมเนียจะบอกยากโดยเฉพาะในระยะแรกๆ ที่อาการยังไม่มาก เพราะดูเหมือนเขาจะเป็นแค่คนขยันอารมณ์ดีเท่านั้นเอง แต่ถ้าสังเกตจริงๆ ก็จะเห็นว่าลักษณะแบบนี้ไม่ใช่ตัวตนของเขา เขาจะดู เวอร์ กว่าปกติไปมาก 

 สาเหตุการเกิดโรค
           ในปัจจุบันเชื่อว่าโรคไบโพล่าร์เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองโดยมี  สารสื่อนำประสาทที่ไม่สมดุลย์  คือ มีสารซีโรโทนิน (serotonin) น้อยเกิดไปและสารนอร์เอปิเนฟริน                        (epinephrine) มากเกินไป

ความชุกของโรค
           พบว่าคนเรามีโอกาสป่วยเป็นโรคนี้ประมาณร้อยละ 1   หญิงและชายพบได้พอๆ กัน   มักพบมีอาการครั้งแรกระหว่างอายุ 15-24 ปี


แนวทางการรักษา
           โรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยยา  ยาที่ใช้รักษาโรคไบโพล่าร์ได้แก่ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์ (mood stabilizers), ยาแก้โรคจิต (antipsychotics), และยาแก้โรคซึมเศร้า(antidepressants)


ยาควบคุมอารมณ์  (mood stabilizers) 

             ยากลุ่มนี้เป็นยาหลักที่ใช้ทั้งรักษาทั้งในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการซึมเศร้าและอาการมาเนียและยังใช้ป้องกันการกลับเป็นใหม่ได้ด้วย ในประเทศไทยปัจจุบันมียากลุ่มนี้ใช้แพร่หลายอยู่ 3 ชนิดคือ 
             - ลิเที่ยม (lithium carbonate)
             - วาลโปรเอท  (valproate), 
             - คาร์บามาซีปีน ( carbamazepine)
             - โทพิราเมท (topiramate)  
             ยาในกลุ่มยาควบคุมอารมณ์นี้จะออกฤทธิ์ช้า  เมื่อปรับยาครั้งหนึ่งต้องรออย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ยาจึงเริ่มออกฤทธิ์  ผู้ป่วยที่ใช้ยาในกลุ่มนี้มักต้องถูกเจาะเลือดดูระดับยาในร่างกายเพื่อช่วยในการปรับยาด้วย และยาในกลุ่มนี้มักเป็นยาต้องห้ามในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์โดยเฉพาะใน 3 เดือนแรก

ยาแก้โรคจิต ( antipsychotics)              ในผู้ป่วยที่มีระยะมาเนีย นั้นการรอให้ยาควบคุมอารมณ์ออกฤทธิ์นั้นมักจะไม่ทันการเพราะผู้ป่วยมักจะวุ่นวายและมีพฤติกรรมที่สร้างปัญหามากแพทย์จึงมักให้การรักษาด้วยยาแก้โรคจิต  ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ไวและช่วยให้ผู้ป่วยสงบสติอารมณ์ควบคุมตนเองได้ดีขึ้น  ยาในกลุ่มนี้มีให้เลือกใช้หลายชนิดแต่แพทย์มักเลือกใช้ชนิดที่มีฤทธิ์ทำให้ง่วงมากๆเช่น 
              -  คลอโปรมาซีน (chlorpromazine)
              - ไธโอริดาซีน (thioridazine)
              - เพอร์เฟนาซีน (perphenazine) 

ยาแก้โรคซึมเศร้า (antidepressants)
             ในผู้ป่วยที่มี ระยะซึมเศร้า แพทย์สามารถให้การรักษาด้วยยาควบคุมอารมณ์โดยไม่ต้องให้ยาแก้โรคซึมเศร้าก็ได้แต่บางครั้งแพทย์อาจเลือกที่จะให้ยาแก้ซึมเศร้าด้วยเพื่อให้ได้ผลแน่นอนขึ้นแล้วค่อยลดและหยุดยาแก้โรคซึมเศร้าเมื่อผู้ป่วยสบายดีเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ป่วย “ ดีเกิน ” กลายเป็นอาการมาเนีย ยาแก้โรคซึมเศร้ามีให้เลือกใช้หลายชนิด แต่ละชนิดมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกันแต่ผลข้างเคียงต่างกันเช่นบางชนิดทำให้ง่วงบางชนิดไม่ทำให้ง่วง ยาแก้ซึมเศร้าเป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้าเช่นเดียวกับยาควบคุมอารมณ์

 การป้องกัน
            ผู้ที่มีอาการกำเริบ 2 ครั้งขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นแบบเมเนียหรือซึมเศร้า ควรกินยาป้องกันระยะยาว โดยทั่วไปแพทย์จะให้กินนานอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป


            โดยทั่วไปเมื่อเริ่มการรักษาแพทย์มักสามารถควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ในเวลาประมาณ 1 เดือนและผู้ป่วยมักหายเป็นปกติในเวลาประมาณ 2 เดือน หลังจากนั้นแพทย์จะให้ยาควบคุมอารมณ์ต่อไปอีก 6-12 เดือนแล้วค่อยพิจารณาหยุดยา โรคไบโพล่าร์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายสนิทได้ คือหายกลับเป็นคนเดิมได้ แต่ไม่หายขาด วันดีคืนดีผู้ป่วยจะกลับมามีอาการอีก ในผู้ป่วยบางรายที่เป็นมาหลายครั้ง เป็นค่อนข้างถี่ หรือเป็นแต่ละครั้งรุนแรงมาก แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต่อไปเรื่อยๆเพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาใหม่

ปัจจัยที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการกลับมาใหม่ที่พบบ่อยมี 3 ข้อคือ
  1. เครียดมาก
  2. อดนอน
  3. ขาดยา
         
            ปัจจัยข้อที่ 1 เป็นสิ่งที่คนเราหลีกเลี่ยงได้ยากโดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่การงานต้องรับผิดชอบมากๆแต่เราก็คงจะสามารถปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของเราได้บ้างให้เครียดเฉพาะที่จำเป็นต้องเครียด ส่วนปัจจัยอีก 2 ข้อนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงได้ ไม่ว่า(การ)งานจะยุ่งเพียงใด ไม่ว่างาน(เลี้ยง)จะสนุกแค่ไหน ให้ ให้ความสำคัญกับการนอน ก่อน จัดเวลาให้นอนให้พอเสมอแล้วท่านจะไม่ต้องมานอนที่โรงพยาบาลบ่อยนัก นอกจากนั้นก็ กินยาให้ครบ ถึงแม้ว่าจะน่าเบื่อเพียงใดก็ตาม แพทย์ทุกท่านเห็นใจผู้ป่วยที่ต้องกินยานานๆแต่บางครั้งมันก็จำเป็น เพราะเมื่ออาการกำเริบแต่ละครั้งมักเกิดความเสียหายแก่ทั้งตัวผู้ป่วยเองและญาติๆและยาสามารถช่วยป้องกันการกำเริบได้จริงๆ

อยู่อย่างเข้าใจโรคอารมณ์สองขั้ว

          การกินยาอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้สามารถควบคุมอาการได้ดี รวมทั้งสามารถป้องกันการกำเริบในครั้งต่อไป  และควรพบแพทย์ตามนัดเพื่อประเมินผลการรักษาตลอดจนผลข้างเคียงจากยา แพทย์อาจปรับยาเป็นช่วงๆ ตามแต่อาการของโรค ควรบอกแพทย์อย่างไม่ปิดบังถึงอารมณ์และพฤติกรรมต่างๆ  โดยเฉพาะหากไม่แน่ใจว่าเป็นช่วงที่อารมณ์เปลี่ยนแปลงหรือไม่
           การปฏิบัติตัวที่สำคัญในโรคนี้ได้แก่การรักษาความสม่ำเสมอในการดำเนินกิจวัตรพื้นฐานประจำวัน ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเรื่องการนอน  พบว่าการนอนน้อยติดต่อกันหลายวันทำให้อาการแกว่งไกวได้ จึงควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงการนอนดึก หรือดื่มแอลกอฮอล์ 
           ในช่วงที่เริ่มมีอาการเมเนียให้เลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆ หาหลักควบคุมการใช้เงิน (เช่นฝากเงินไว้กับภรรยาหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นอารมณ์มากๆ   ให้คนใกล้ชิดและญาติคอยเตือนเมื่อเห็นว่าตนเองมีพฤติกรรมที่อาจไม่เหมาะสม
           ในช่วงซึมเศร้า เลี่ยงการตัดสินใจที่สำคัญๆ เช่น ลาออกจากงาน  การออกกำลังกาย  โดยในผู้ที่มีอาการซึมเศร้าไม่มาก จะรู้สึกว่าจิตใจคลายความเศร้า และแจ่มใสขึ้นได้  หากอาการมากอยู่ อย่ากดดันตัวเองให้ทำสิ่งต่างๆ ได้เหมือนเดิม ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาที่ยังต้องการการพักผ่อน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ การกระตุ้นตนเองมากไปกลับยิ่งจะทำให้ตัวเองรู้สึกแย่ที่ทำไม่ได้อย่างที่หวัง
           การเข้าใจจากคนใกล้ชิดและญาติมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ผู้ที่เป็นมีกำลังใจในการรักษาให้ตนเองกลับสู่ปกติ ญาติยังมีส่วนสำคัญในการสังเกตว่าผู้ที่เป็นมีอาการกลับเป็นซ้ำหรือไม่ โดยในช่วงแรกที่อาการยังไม่มาก ผู้ที่เป็นจะไม่ทราบว่าตนเองเปลี่ยนแปลงไป


           วันนี้คุณลองสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างนะครับว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอารมณ์สองขั้วหรือไม่  เพราะถ้าหากมีควรเร่งหาวิธีแก้ไขเพื่อทำให้ชีวิตในทุก ๆ วันมีแต่ความสุขและยกระดับคุณภาพชีวิตและครอบครัว  ^^